สถานพยาบาลประเภทที่ไม่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน เลขที่ใบอนุญาต 30107000252

ที่ตั้งคลินิก

ที่ตั้งคลินิก

ปัจจุบันมะเร็งเป็นสาเหตุการตายของมนุษย์ในลำดับ ต้น ๆ มะเร็งที่พบบ่อย ได้แก่ มะเร็งปอด มะเร็งตับ มะเร็งเต้านม มะเร็งปากมดลูก มะเร็งลำไส้ เป็นต้น และนอกจากมะเร็งที่พบตามอวัยวะต่าง ๆ แล้ว มะเร็งยังสามารถลุกลาม ไปยังอวัยวะข้างเคียง รวมถึงแพร่กระจายเข้าไปในกระดูกด้วย
สำหรับภาวะมะเร็งเข้ากระดูก แม้จะพบได้น้อยกว่าโรคมะเร็งที่กล่าวมาแล้วข้างต้น แต่ภาวะดังกล่าวก็เป็นอันตรายต่อสุขภาพรวมทั้งบั่นทอนคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยด้วย
พอ. นพ.ทวี ทรงพัฒนาศิลป์ โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า กล่าวว่า เมื่อแรกเกิดมนุษย์จะมีกระดูกทั้งหมด 206 ชิ้น เมื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่กระดูกบางส่วนจะเชื่อมต่อเป็นชิ้นเดียวกัน กระดูกจะเจริญเติบโตและมีความแข็งแรงเต็มที่เมื่ออายุ 20-30 ปี โดยกระดูกมีหน้าที่หลัก 2 ด้าน คือ
1. หน้าที่เชิงกลศาสตร์ กระดูกจะทำหน้าที่เป็นแกนให้กล้ามเนื้อหรือเอ็นที่ห่อหุ้มกระดูกอยู่สามารถขยับหรือเคลื่อนไหวได้ และช่วยปกป้องห่อหุ้มอวัยวะต่าง ๆ ในร่างกาย เช่น กะโหลกที่ทำหน้าที่ห่อหุ้มสมองเพื่อป้องกันแรงกระแทก เป็นต้น
2. หน้าที่เชิงชีวภาพ กระดูกเป็นแหล่งสะสมแร่ธาตุที่ใหญ่ที่สุดในร่างกาย โดยเฉพาะแคลเซียมและฟอสฟอรัส ซึ่งแคลเซียมและแร่ธาตุมีประโยชน์ต่อการทำงานของระบบอื่น ๆ ในร่างกาย เช่น การแข็งตัวของเลือด การเต้นของหัวใจ นอกจากนั้นในกระดูกยังมีไขกระดูก ซึ่งมีหน้าที่สร้างเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือด และในปัจจุบันก็พบว่าเซลล์ต้นกำเนิดหลาย ๆ ชนิดอยู่ในไขกระดูกด้วย
สำหรับวัฏจักรของเซลล์กระดูกตลอดช่วงชีวิตขัย ร่างกายจะมีการสร้างเนื้อกระดูกขึ้นใหม่โดยเซลล์สร้างกระดูก (Oste-oblast) และเนื้อกระดูกเก่าจะถูกสลายออกไปโดยเซลล์สลายกระดูก (Osteoclast) โดยในรอบ 1 ปีกระดูกของคนเราจะเปลี่ยนแปลงไป 10% และในรอบ 10 ปีร่างกายก็จะมีกระดูกใหม่ 1 ชุด ซึ่งในช่วงเด็กและวัยรุ่นร่างกายจะมีการสร้างเนื้อกระดูกใหม่มากกว่าการสลายเนื้อกระดูก กระดูกจึงใหญ่ขึ้น หนาและหนักขึ้น และในช่วงอายุถัดมาในคนปรกติการสร้างเนื้อกระดูกใหม่และการสลายของเนื้อกระดูกเก่าจะต้องมีความสมดุลกัน แต่หลังจากอายุ 45 ปี ระบบผลัดเปลี่ยนกระดูกจะเริ่มทำงานผิดพลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้หญิงเนื่องจากภาวะหมดประจำเดือน ซึ่งภาวะดังกล่าวจะส่งผลให้ระบบการสร้างกระดูกทำงานไม่สมดุล โดยมีการสลายเนื้อกระดูกมากกว่าการสร้างเนื้อกระดูก และการสลายของเนื้อกระดูกจะเกิดขึ้นเร็วมาก ซึ่งหากเนื้อกระดูกสลายมาก ๆ ก็จะเกิดภาวะกระดูกบาง และหากมีมวลกระดูกต่ำมากก็จะเกิดภาวะกระดูกพรุน
สำหรับสาเหตุที่ทำให้ระบบการสร้างกระดูกทำงานผิดพลาดโดยมีการสลายเนื้อกระดูกมากกว่าการสร้างเนื้อกระดูก นอกจากปัจจัยด้านอายุแล้ว การรับประทานยาบางชนิด เช่น ฮอร์โมนเอสโตรเจน การป่วยเป็นโรคทางกรรมพันธุ์บางอย่าง โรคทาง metabolism ของกระดูก และภาวะมะเร็งกระจายตัวมาที่กระดูก ก็เป็นต้นเหตุที่ทำให้ระบบการสร้างกระดูกทำงานผิดพลาดได้ด้วยเช่นกัน
นพ.อาคม เชียรศิลป์ หน่วยมะเร็งวิทยา สถาบันมะเร็งแห่งชาติ กล่าวว่า สาเหตุของการเกิด ภาวะมะเร็งเข้ากระดูกเกิดได้ทั้งจากการเป็นมะเร็ง ในเนื้อไขกระดูก หรือ multiple myeloma หรือเซลล์ มะเร็งจากอวัยวะอื่นลุกลามไปยังกระดูก ซึ่งมะเร็งที่มักแพร่กระจายไปที่กระดูก ได้แก่ มะเร็งต่อมลูกหมาก มะเร็งเต้านม มะเร็งปอด และมะเร็งต่อมไทรอยด์ โดยเซลล์มะเร็งเหล่านี้จะเจาะทะลุหลอดเลือดและไหลไปตามหลอดเลือด แล้วจึงแทรกตัวผ่านผนังหลอดเลือดเข้าไปเกาะตัวบริเวณเนื้อกระดูก โดยเซลล์มะเร็งสามารถสร้างสารขึ้นมาควบคุมทั้งเซลล์สร้างกระดูกและเซลล์สลายกระดูก และส่วนใหญ่เซลล์มะเร็งจะทำให้เซลล์สลายกระดูกออกมาสลายกระดูกมากเกินไปจนทำให้กระดูกบางและแตกหักง่าย
สำหรับกระดูกส่วนที่เซลล์มะเร็งชอบแพร่กระจายไปมากที่สุด ได้แก่ กระดูกสันหลัง ซึ่งพบได้ 70-80% หากมะเร็งกระจายตัวไปที่กระดูกส่วนนี้จนกระดูกบางลงก็อาจจะไปกดทับเส้นประสาทได้ และส่วนที่เซลล์มะเร็งชอบแพร่กระจายไปในลำดับต่อมาก็คือกระดูกสะโพก
ด้านอาการของภาวะมะเร็งเข้ากระดูก ในผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการใด ๆ เลยในระยะแรก แต่ในระยะต่อมาอาจมีอาการปวดกระดูกน้อย ๆ และปวดมากขึ้นเรื่อย ๆ โดยเฉพาะในตอนกลางคืน หรือในช่วงที่มีอากาศหนาวเย็น ส่วนอาการอื่น ๆ ที่พบ ได้แก่ กระดูกแขนขาหักโดยไม่ได้เกิดจากอุบัติเหตุหกล้ม หรืออาจจะหกล้มแต่ไม่รุนแรง หรือมีอาการชาตามมือหรือเท้า แขนขาอ่อนแรง ปัสสาวะไม่ออกในกรณีที่กระดูกไขสันหลังถูกทำลายจากเซลล์มะเร็งจนบางลงและไปกดทับเส้นประสาท และอาจมีอาการซึม หมดสติ ท้องอืด ท้องผูก คลื่นไส้ อาเจียน หัวใจเต้นผิดจังหวะ ปัสสาวะผิดปรกติ กระหายน้ำและดื่มน้ำมากกว่าปรกติ ในกรณีที่มีภาวะแคลเซียมในเลือดสูงเนื่องจากมีการสลายของเนื้อกระดูกมาก เป็นต้น

ส่วนการรักษาก็มีอยู่ด้วยกันหลายวิธี ทั้งการใช้รังสีรักษา เพื่อลดอาการปวดเฉพาะที่ การใช้สารที่ติดฉลากด้วยสารกัมมันตรังสีฉีดรักษาโรคมะเร็งเข้ากระดูก การใช้ฮอร์โมน ยาเคมีบำบัด หรือยาชีวะบำบัด เพื่อรักษาและควบคุมมะเร็งต้นกำเนิด การผ่าตัดกระดูกเพื่อทำให้การเคลื่อนไหวเป็นปรกติมากที่สุด การใช้ยาแก้ปวด และการใช้ยาฉีดที่มีฤทธิ์ยับยั้งการสลายกระดูกที่ถูกทำลายจากเซลล์มะเร็งระยะลุกลาม เพื่อรักษาผลแทรกซ้อนจากภาวะมะเร็งเข้ากระดูก ได้แก่ ลดและชะลอความเสี่ยงจากกระดูกหัก ลดอาการปวดกระดูกและรักษาภาวะแคลเซียมในเลือดสูง เป็นต้น
ภาวะมะเร็งเข้ากระดูก ถือเป็นภัยเงียบชนิดหนึ่งที่ไม่ควรมองข้าม เพราะในระยะแรกที่ป่วย ผู้ป่วยบางรายจะไม่มีอาการใด ๆ เลย กว่าจะรู้ตัวอีกทีมะเร็งก็ลุกลามไปมากแล้ว และเพื่อเป็นการเผยแพร่ข้อมูลความรู้เกี่ยวกับมะเร็งเข้ากระดูก ปัจจุบันจึงได้มีการจัดตั้ง "ชมรมเรารักกระดูก" ขึ้น และเปิดโอกาสให้ประชาชนหรือผู้สนใจสมัครเป็นสมาชิกชมรมโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ โดยสมาชิกจะได้รับข่าวสารจากจุลสารของทางชมรมปีละ 4 ครั้ง รวมทั้งได้รับข้อมูลเกี่ยวกับมะเร็งเข้ากระดูกจากแพทย์ ผู้เชี่ยวชาญด้วย ซึ่งทางชมรมได้ทำการเปิดตัวอย่างเป็นทางการแล้วเมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ที่ผ่านมา
ที่มา 
http://www.medicthai.com/

0 ความคิดเห็น: