สถานพยาบาลประเภทที่ไม่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน เลขที่ใบอนุญาต 30107000252

ที่ตั้งคลินิก

ที่ตั้งคลินิก

ในระยะแรกหลังจากการผ่าตัดเข่าจะบวมและอุ่น โดยอาการเหล่านี้จะค่อย ๆ หายไป เนื่องจากในข้อเข่ายังคงมีเลือดคั่งค้างจากการผ่าตัด ซึ่งไปกระตุ้นการอักเสบ โดยทั่วไปแล้วอาการเข่าบวมมักจะหายไปภายใน 3 เดือน ส่วนอาการเข่าอุ่น จะเข้าสู่ปกติประมาณ 6-12 เดือนหลังจากผ่าตัด ผู้ป่วยอาจมีอาการชาบริเวณด้านนอกของแผลผ่าตัดได้ ซึ่งอาการเป็นอยู่ประมาณ 3-6 เดือน บริเวณที่ชาเล็กลงจนไม่เป็นที่รำคาญ ผู้ป่วยมักรู้สึกว่าผลของการผ่าตัดดีขึ้นอย่างชัดเจนหลังจากการผ่าตัดประมาณ 6-12 สัปดาห์ เป็นต้นไป  อนึ่งผู้ป่วยควรทราบว่า หลังจากการผ่าตัดแล้ว ผู้ป่วยอาจได้ยินเสียง คลิก เกิดขึ้นได้ในขณะเหยียดหรืองอข้อเข่า ซึ่งถือว่าเสียงนี้เป็นเสียงปกติ  และผู้ป่วยยังจำเป็นต้องรับการรักษาทางกายภาพบำบดต่อไปอีก

อาการที่เกิดขึ้นหลังการผ่าตัด

ที่ระยะเวลา 2 สัปดาห์ หลังการผ่าตัด (วิธีดั้งเดิม)
ความสามารถที่ควรทำได้
การเดิน ควรเดินได้เอง (อาจใช้ หรือไม่ใช้เครื่องช่วยเดินก็ได้)
ภารกิจทั่วไป ควรทำกิจวัตรในชีวิตประจำวัน เช่น ลุกจากเตียงไปห้องน้ำ เดินภายในบ้าน เป็นต้น ได้ด้วยตนเอง
ภารกิจพิเศษ ควรเริ่มขึ้นและลงบันได เข้าและออกจากรถยนต์นั่งได้
กำลังกล้ามเนื้อ ควรมีกำลังเหยียดข้อเข่าได้ตรง หรือเกือบตรง
การงอข้อเข่า ควรทำได้อย่างน้อยประมาณ 90 องศา
ความเปลี่ยนแปลงซึ่งถือว่าปกติ
อาการปวด และข้ออุ่นขึ้นเป็นบางเวลา มักเป็นเวลาฝึกงอข้อเข่ามาก หรือหลังจากเดินมาก ๆ โดยเฉพาะเวลากลางคืน วิธีปฏิบัติที่เหมาะสม คือ ลดความถี่ในการฝึกงอข้อ ฝึกงอข้อเข่าแบบช้า ๆ ลดการเดินให้พอดีกับภารกิจประจำวัน เวลานอนสามารถหนุนขาบนหมอนให้ปลายเท้าสูง และเข่างอเล็กน้อย สามารถประคบด้วยถุงประคบเย็น (ice pack) ได้บ่อย ตามต้องการ
ความบวม อาจพบว่าขาข้างที่ผ่าตัดมีขนาดใหญ่ หรือบวมกว่าข้างที่ไม่ได้ผ่าตัด โดยเฉพาะเมื่อนั่งห้อยเท้านาน ๆ วิธีที่ทำให้ขาบวมน้อยลง คือ ไม่นั่งห้อยเท้านาน กระดกเท้าและข้อเท้าขึ้น/ลงบ่อย ๆ เกร็งกำลังเหยียดข้อเข่าตรงบ่อย ๆ และฝึกเดินโดยยกเท้าขึ้นสูงระหว่างก้าวขา
ระยะเวลา 6 สัปดาห์ หลังการผ่าตัด (วิธีดั้งเดิม)

ความสามารถที่ควรทำได้
การเดิน ควรเดินได้เอง (ไม่ใช้เครื่องช่วยเดิน)
ภารกิจทั่วไป ทำกิจวัตรในชีวิตประจำวันได้ด้วยตนเอง รวมถึงมีกิจกรรมการเดินภายนอกบ้าน
ภารกิจพิเศษ ขึ้นและลงบันได เข้าและออกจากรถยนต์นั่งได้สบาย
กำลังกล้ามเนื้อ มีกำลังเหยียดข้อเข่าได้ตรง หรือเกือบตรงอย่างสบาย
การงอข้อเข่า ควรทำได้อย่างน้อยประมาณ 120 องศา
ความเปลี่ยนแปลงซึ่งถือว่าปกติ
อาการปวด และข้ออุ่นขึ้นเป็นบางเวลา ยังคงมีอยู่ มักเป็นเวลาฝึกงอข้อเข่ามาก หรือหลังจากเดินมาก ๆ โดยเฉพาะเวลากลางคืน วิธีปฏิบัติที่เหมาะสม คือ ลดความถี่ในการฝึกงอข้อ ฝึกงอข้อเข่าแบบช้า ๆ ลดการเดินให้พอดีกับภารกิจประจำวัน เวลานอนสามารถหนุนขาบนหมอนให้ปลายเท้าสูง และเข่างอเล็กน้อย สามารถประคบด้วยถุงประคบเย็น (ice pack) ได้บ่อย ตามต้องการ
อาการปวดจี้ดรอบ ๆ ข้อ หรือกล้ามเนื้อขากระตุก เกิดจากปลายประสาทรับความรู้สึกเริ่มทำงานใหม่ หลังจากการผ่าตัด
ความบวม อาจพบว่าขาข้างที่ผ่าตัดมีขนาดใหญ่ หรือบวมกว่าข้างที่ไม่ได้ผ่าตัด โดยเฉพาะเมื่อนั่งห้อยเท้านาน ๆ วิธีที่ทำให้ขาบวมน้อยลง คือ ไม่นั่งห้อยเท้านาน กระดกเท้าและข้อเท้าขึ้น/ลงบ่อย ๆ เกร็งกำลังเหยียดข้อเข่าตรงบ่อย ๆ และฝึกเดินโดยยกเท้าขึ้นสูงระหว่างก้าวขา
ความเปลี่ยนแปลงของแผลผ่าตัด

แผลเป็นในระยะ 6 สัปดาห์ สังเกตได้ว่าผู้ป่วยบางรายมีแผลเป็นมีรอยเด่นชัด มองดูคล้ายเป็นตัวตะขาบ แต่แผลเป็น หรือบริเวณรอบ ๆ ควรมีสีผิวหนังที่ปกติ ไม่ดูแดง หรือช้ำ
ระยะเวลา 12 สัปดาห์ หรือ 3 เดือนหลังการผ่าตัด (วิธีดั้งเดิม)

ความสามารถที่ควรทำได้
การเดิน ควรเดินได้เองอย่างปกติ (ผู้ป่วยบางรายอาจมีท่าการเดินยังดูผิดปกติบ้าง เนื่องจากปัญหาของเข่าอีกข้างหนึ่ง หรือความเคยชินจากท่าเดินของเดิม)
ภารกิจทั่วไป ทำกิจวัตรทั่ว ๆไปด้วยตนเองอย่างสบาย ๆ รวมถึงมีกิจกรรมต่าง ๆ ได้ดี
ภารกิจพิเศษ ขึ้นและลงบันได เข้าและออกจากรถยนต์นั่งได้สบาย
กำลังกล้ามเนื้อ มีกำลังเหยียดข้อเข่าได้ตรงอย่างสบาย
การงอข้อเข่า ควรทำได้ประมาณ 120-140 องศา
ความเปลี่ยนแปลงซึ่งถือว่าปกติ
อาการปวดนาน ๆ ครั้ง อาจเป็นได้หลังจากมีกิจกรรมมาก ๆ วิธีปฏิบัติที่เหมาะสม คือ ลดกิจกรรมให้พอดี ๆ แต่ไม่ห้ามการปฏิบัติภารกิจประจำวันทั่ว ๆ ไป เวลานอนสามารถหนุนขาบนหมอนให้ปลายเท้าสูงและเข่างอเล็กน้อย สามารถประคบด้วยถุงประคบเย็น (ice pack) ได้บ่อย ตามต้องการ
อาการเข่าอุ่น ยังคงมีอยู่ในผู้ป่วยส่วนใหญ่
ความบวม ควรหายไป หรือมีน้อยมาก ถ้ายังมีอยู่ ควรเป็นเฉพาะเมื่อนั่งห้อยเท้านาน ๆ วิธีที่รักษา ทำดังที่กล่าวมาแล้ว
ความเปลี่ยนแปลงของแผลผ่าตัด
แผลเป็น ในระยะ 12 สัปดาห์ มักเป็นช่วงเวลาที่แผลเป็นมีรอยเด่นชัดสุด มองดูอาจเห็นเป็นสันนูน แต่แผลเป็น หรือบริเวณรอบ ๆ ควรมีสีผิวหนังที่ปกติ ไม่ดูแดง หรือช้ำ
ระยะเวลา 6 เดือน หลังการผ่าตัด (วิธีดั้งเดิม)

ความสามารถที่ควรทำได้
การเดิน ควรเดิน หรือเดินเร็วได้เองอย่างปกติ และนานเกือบเท่าคนปกติ
ภารกิจทั่วไป ทำกิจวัตรทั่ว ๆไปด้วยตนเองอย่างสบาย ๆ รวมถึงมีกิจกรรมต่าง ๆ ได้ดี
ภารกิจพิเศษ ขึ้นและลงบันได เข้าและออกจากรถยนต์นั่งได้สบาย
กำลังกล้ามเนื้อ มีกำลังเหยียดข้อเข่าได้ตรงอย่างสบาย
การงอข้อเข่า ควรทำได้ประมาณ 120-140 องศา
ความเปลี่ยนแปลงซึ่งถือว่าปกติ
อาการปวด ควรหายสนิท
อาการเข่าอุ่น ควรหาย หรือมีอุ่นน้อยมาก
ความบวม ควรหายสนิท
ความเปลี่ยนแปลงของแผลผ่าตัด
แผลเป็น ระยะ 6 เดือน เป็นช่วงเวลาที่แผลเป็นมีรอยนูนน้อยลงมาก แต่ยังอาจสังเกตเห็นสีของแผลยังเข้มได้ หรือบริเวณรอบ ๆ ควรมีสีผิวหนังที่ปกติ ไม่ดูแดง หรือช้ำ
ระยะเวลา 12 เดือน หรือ 1 ปีหลังการผ่าตัด (วิธีดั้งเดิม)
ความสามารถที่ควรทำได้
การเดิน ควรเดิน หรือเดินเร็วได้เองอย่างปกติ และนานเหมือนคนปกติ
ภารกิจทั่วไป ทำกิจวัตรทั่ว ๆไปด้วยตนเองอย่างสบาย ๆ รวมถึงมีกิจกรรมต่าง ๆ ได้ดี
ภารกิจพิเศษ ขึ้นและลงบันได เข้าและออกจากรถยนต์นั่งได้สบาย
กำลังกล้ามเนื้อ มีกำลังเหยียดข้อเข่าได้ตรงอย่างสบาย
การงอข้อเข่า ควรทำได้ประมาณ 120-140 องศา
ความเปลี่ยนแปลงซึ่งถือว่าปกติ
อาการปวด ควรหายสนิท
อาการเข่าอุ่น ควรหายสนิท
ความบวม ควรหายสนิท
ความเปลี่ยนแปลงของแผลผ่าตัด
แผลเป็น แผลเป็นไม่มีรอยนูน สีที่เข้มจางลงเกือบเหมือนผิวหนังปกติ หรือบริเวณรอบ ๆ ควรมีสีผิวหนังที่ปกติ
การมาพบแพทย์ตามนัด

แพทย์จะนัดมารับการตรวจอีกครั้งเพื่อประเมินสภาพทั่วไป และตัดไหม ภายใน 2-3 สัปดาห์นับจากวันผ่าตัด หลังจากนั้นการนัดจะห่างขึ้น เช่นทุก 3-6 สัปดาห์ พร้อมกับการถ่ายภาพทางรังสีเป็นครั้งคราว เมื่อผู้ป่วยดูปกติดีแล้ว แพทย์มักจะนัดมารับการตรวจทุก 6 เดือน ถึง 1 ปี
โดย : รศ.นพ.อารี ตนาวลี

ปรับปรุงข้อมูล : ธีรพล วันหากิจ
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์



























1 ความคิดเห็น:

กล้ามเนื้อบวมจากการผ่าตัดกระดูกหักที่หน้าแข้งมีวิธีรักษามั่ยครับ

2 สิงหาคม 2561 เวลา 12:17